Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีรับมือ เมื่อเจ้าตัวน้อยไม่ยอมฟังพ่อแม่

Posted By Plook TCAS | 18 ก.ย. 66
163 Views

  Favorite

          เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะเจอกับปัญหา "ลูกไม่ยอมฟังฉัน" เด็กวัยอนุบาลเป็นวัยที่กำลังตื่นเต้นและสนใจกับโลกรอบตัว เด็ก ๆ มักจะสนุกกับการสำรวจและลองสิ่งใหม่ ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้จะทดสอบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และอาจดูเหมือนพวกเขาจะเริ่มไม่ฟังพ่อและแม่ แถมแอบมีเหตุผลเป็นของตัวเองชนิดที่บางทีพ่อแม่ก็เข้าไม่ถึง

          พอพูดคำว่า “ไม่ยอมฟัง” บางครั้งอาจให้ความรู้สึกว่าลูกเราดื้อ เกเร ไม่เชื่อฟังหรือไม่สนใจพ่อแม่ แต่บางครั้งอาจจะหมายถึงแค่การพยายามบอกว่า “หนูเหนื่อย ง่วง หนูหิว หนูรู้สึกไม่สบาย” แต่พวกเขายังไม่มีทักษะทางภาษาในการสื่อสารด้านความรู้สึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็ก ๆ จึงมีวิธีการแสดงออกด้วยการไม่ฟังหรือไม่รับรู้อะไรนั่นเอง และแน่นอนว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรมีวิธีการต่อรองในการเลือกหรือตัดสินใจของเขา โดยการมีกฎกติกาและขอบเขตเพื่อให้เขาเรียนรู้พฤติกรรมที่สามารถทำได้ และในบทความนี้เราจะมาบอกทริคดี ๆ ในการรับมือกับเจ้าตัวแสบ เมื่อพวกเขาไม่ยอมฟังพ่อแม่

 

ตาสบตา

          ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ไม่ได้ใช้ได้แค่เรื่องความรักเท่านั้น แม้แต่เรื่องการเลี้ยงลูกก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้สายตาเป็นการสร้างสัญญาและทวงสัญญาต่อกัน สบตากันทุกครั้งที่ทำการตกลง เพื่อสื่อถึงความรู้สึกที่จริงจัง ไม่ใช่การพูดลอย ๆ ให้เด็ก ๆ รู้ว่า “พ่อกับแม่ไม่ได้มาเล่น ๆ นะจ๊ะ เอาจริงจ้า”

 

ไม่ควรบอก / ขอ / สั่ง เกิน 2 ครั้ง

          เริ่มต้นจากการขอดี ๆ เช่น “เล่นเสร็จแล้ว ลูกเก็บของเล่นเข้าที่ด้วยนะคะลูก” ยังค่ะ ลูกยังเงียบ ยังไม่รับรู้ ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้ยิน จนคุณพ่อคุณแม่ต้องบอกซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้ ต้อง up level ขึ้นมาอีกหน่อยค่ะ โดยการเพิ่มข้อแม้ที่หนักขึ้นหากไม่ทำตามเช่น “หากลูกไม่เก็บของเล่นเข้าที่ ลูกจะไม่ได้เล่นของเล่นนี้อีก 3 วัน” ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นไม้แข็ง ที่แนบมาพร้อมกับบทลงโทษเบา ๆ แต่จริงจัง ข้อควรระวังคือ อย่าใช้บ่อยจนพร่ำเพรื่อ กลายเป็นคนที่ชอบข่มขู่ลูก เด็ดขาดบ่อยจนลูกกดดันอึดอัด เราสามารถใช้ได้เป็นครั้งคราว ใช้ในยามจำเป็น เป็นข้อเสนอ เป็นกติกาของครอบครัวที่มีการยื่นคำขาดในสถานการณ์ที่เหมาะสม

 

เลือกอาวุธ

          เลือกอาวุธในที่นี้ไม่ใช่การเลือกไม้ตีลูกน้อยนะคะ แต่เป็นการสร้างข้อต่อรอง ออกแบบกติกาครอบครัว ถ้าเราเลือกที่จะพูดแต่คำว่า “ไม่, อย่า, ห้าม” ตลอดเวลา บอกเลยว่าไม่เกิดประโยชน์ค่ะ เพราะบ่อยครั้งเข้า คำเหล่านั้นจะกลายเป็นเพียงคำบอกเล่าที่ลูกน้อยเพียงได้ยินผ่านหู แล้วปล่อยผ่านไป เรียกง่าย ๆ ว่า เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้อง ยื่นข้อตกลงอย่างเด็ดขาด (แต่ผ่อนปรนได้บ้างตามความจำเป็น) ชัดเจน และมีบทลงโทษกำกับ เพียงแต่วิธีการทำโทษต้องไม่ทำบ่อยจนชินและที่สำคัญต้องไม่รุนแรง จนกระทบความรู้สึกของลูก

 

คงเส้นคงวา

          ไม่สร้างกติกา หรือส่งสัญญาณข้อตกลงที่สับสน ซับซ้อน หรือกลับไปกลับมา เชื่อถือไม่ได้ ไม่จริงจัง หย่อนยาน ขึ้นชื่อว่ากฎ แปลว่า “ต้องปฏิบัติตาม” แต่สามารถอะลุ้มอล่วยได้บ้างตามความพร้อมของลูก แต่ต้องไม่เปลี่ยนกฎไปมา เช่น บางครั้งปล่อยให้ทำได้ แต่บางครั้งโมโหลูกว่าเป็นเรื่องผิด หรือบางอย่างที่ตั้งกฎไว้อย่างดี แต่กลับปล่อยปะละเลย แล้วยกมาใช้แค่เป็นบางครั้ง เพราะจะทำให้เด็ก ๆ สับสนและมีนิสัยไม่เคารพกฎติดตัวไปจนโต กลายเป็นเด็กที่ขาดวินัยในตัวเอง

 

อย่าใช้อารมณ์ส่วนตัว

          บางครั้งเด็กน้อยจะสามารถรู้รับจากความรู้สึกได้ง่ายกว่าเสียงที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นอย่าใช้วิธีกรี๊ดใส่ เสียงดังใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าตวาด ตะคอก เพราะลูกของคุณจะไม่ได้ยินสาระที่คุณต้องการสื่อสารบอกเขา แต่เขาจะจำลักษณะอารมณ์และอาการเหล่านั้น วิธีที่ควรทำเมื่อลูกทำให้เราโมโหสุดขีดคือ หายใจเข้าลึก ๆ นับเลขในใจแล้วค่อย ๆ ส่งคำสอนและวิธีที่ควรปฏิบัติไปให้กับลูก

 

เช็กให้ชัวร์ว่าลูกเกท

          ในการสอนหรือทำข้อตกลงกับลูก เราควรมีคำถามให้เขาตอบเพื่อย้ำว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เราถามถูกต้องหรือไม่ หรือถ้าเขาไม่เข้าใจหรือคัดค้านตรงไหน จะได้ออกแบบปรับแก้กติการ่วมกัน เพื่อเป็นการเปิดกว้างให้ลูกได้บอกถึงความรู้สึกออกมา และหากสิ่งที่เขารู้สึกหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง นี่จะเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถแก้ไขได้ทันเวลา อย่าปล่อยทิ้งความเข้าใจที่ผิดไว้ที่ลูกในวัยที่เขากำลังจดจำข้อมูลรอบตัว เพราะนั่นจะเป็นปมที่แก้ยากที่สุด

 

          เห็นมั้ยคะว่า การแก้ปัญหาลูกไม่ยอมฟังพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป หากเรารู้วิธีรับมือ รับรองค่ะว่า เจ้าตัวน้อยจะต้องสนุกและลุ้นระทึกไปกับเทคนิคต่าง ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ จะดื้อจะงอแงแค่ไหน ก็เอาอยู่ รับมือได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ได้เรียนรู้และฝึกการเคารพกติกา การสร้างระเบียบวินัยไปพร้อม ๆ กับการสร้างพัฒนาการให้ลูก ช่วงเวลาตอนนี้ วัยอนุบาลแบบนี้เหมาะสมที่สุดแล้วค่ะ ที่จะสร้างเครื่องมือการเรียนรู้และปลูกฝังการเป็นพลเมืองคุณภาพให้แก่เด็ก ๆ ซี่งก็คือลูกน้อยของเรานั่นเอง

 

NEve

 

บทความอ้างอิง

How Do You Discipline a 4-Year-Old Who Doesn't Listen?

https://www.emedicinehealth.com/how_to_discipline_4_year_old_who_doesnt_listen/article_em.htm

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow